ประเพณีงานบุญกลางบ้านและเผยแพร่เครื่องจักสานพนัสนิคม จะจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคมของทุกปี โดยเริ่มงานครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เมืองพนัสนิคมเป็นเมืองเก่าแก่และเคยเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยอดีตกาล จึงมีชุมชนที่มาจากเชื้อชาติต่าง ๆ มาอยู่ร่วมกัน มีทั้งคนไทย คนลาว ซึ่งอพยพมาอยู่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 นอกจากนี้ยังมีชาวจีนซึ่งเข้ามาอยู่ในคราวเมื่อมีการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยน ชนชาติต่าง ๆ เหล่านี้ได้มาอยู่รวมกันเป็นชุมชน และมีการปฏิบัติเกี่ยวกับการทำบุญกลางบ้านต่อเนื่องกันมาจนยึดถือเป็นประเพณี คือ “ประเพณีงานบุญกลางบ้าน” แต่เพราะมีความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ฉะนั้น ประเพณีงานบุญกลางบ้านในแต่ละพื้นที่ แต่ละแห่ง จึงมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความเชื่อและประเพณีดั้งเดิมของแต่ละเชื้อชาติ อย่างไรก็ตาม งานบุญกลางบ้านก็มีการสืบทอดวัฒนธรรมมานับร้อยปี ตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตายาย จวบจนปัจจุบัน

วัตถุประสงค์ของการทำบุญ นอกจากการทำบุญตักบาตรกันตามปกติแล้ว ยังมีการทำพิธีเซ่นสรวงต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยตุ๊กตาที่ปั้นด้วยดินเหนียว เป็นรูปคนเท่าจำนวนสมาชิกในครอบครัวและสัตว์เลี้ยงใส่ลงไปในกระทงกาบกล้วยที่ทำเป็นรูปสี่เหลื่ยมพร้อมด้วยอาหารแห้งและสด รวมทั้งน้ำและเงิน ดอกไม้ ธูปเทียนปักลงในกระทง เครื่องเซ่นเหล่านี้เชื่อกันว่าเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย และรำลึกถึงภูติผี เทวดา เพื่อขอความคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุขและประสบความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน
ประเพณีงานบุญกลางบ้าน จะกระทำกันในราวเดือน 3 – 6 โดยผู้เฒ่าผู้แก่ หรือชาวบ้านจะเป็นผู้กำหนดวันทำบุญกันเอง

พิธีทำบุญเริ่มขึ้นด้วยการเจริญพระพุทธมนต์เย็น ณ บริเวณลานกว้างกลางหมู่บ้าน หลังเจริญพระพุทธมนต์แล้ว ในบางแห่งจะมีการละเล่นต่าง ๆ เพื่อความสนุกสนานของชาวบ้านจะนำอาหารแด่พระสงฆ์และรับศีลรับพรเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็นำเอาเครื่องเซ่นตุ๊กตาที่จัดเตรียมไว้ ไปวางเรียงรายไว้ทางเทิศตะวันตก จากนั้นต่างก็จุดเทียนถวาย เมื่อพระฉันอาหารเสร็จแล้ว ท่านจะนำน้ำมาองค์ละ 1 แก้ว ยืนเป็นวงกลมแล้วสวดมนต์กรวดน้ำราดลงไปในกระทง เสร็จแล้วชาวบ้านก็จะนำไปทิ้งไว้ที่ทางสามแพร่งหรือโคก เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์
หลังเสร็จพิธี ชาวบ้านจะมานั่งรวมรับประทานอาหารด้วยก้น โดยไต่ถามความเป็นอยู่ตลอดจนแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งกันและกัน
สิ่งที่ได้จากการทำบุญกลางบ้าน ก็คือ ความสามัคคีในหมู่คณะ ความเห็นอกเห็นใจช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน การรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น ตลอดจนการปลูกฝังสิ่งที่ดีงามไว้เป็นมรดกสืบทอดต่อไปถึงชนรุ่นหลัง
