“ก่อนมาประจำประเทศไทย พ่อเป็นนักการทูตที่ทำงานอยู่ในวาติกัน แล้วไปประจำช่วงสั้นๆ ช่วงหนึ่งในอียิปต์”
“หลังจากนั้นก็ที่ไนจีเรีย และทวีปแอฟริกาตอนใต้ ได้แก่ บอตสวานา, นามิเบีย, อิสวาตีนี และเลโซโท”
“หากรวมถึงประเทศแอฟริกาใต้ด้วยก็ประมาณ 10 ปีที่ดำรงตำแหน่งสมณทูต”
“พ่อทำงานอย่างใกล้ชิดกับโบสถ์ ได้รู้จักผู้คนมากมายทั้งชุมชนท้องถิ่นและนักการทูต ซึ่งบางคนก็ได้มาพบกันอีกที่นี่ ทุกอย่างล้วนเป็นความทรงจำที่ดี”
การปรับตัวกับสถานที่ใหม่จากทวีปหนึ่งมายังอีกทวีปหนึ่ง
อาร์ชบิชอปปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์ (Archbishop Peter Bryan Wells) เอกอัครสมณทูตแห่งนครรัฐวาติกันประจําประเทศไทย เล่าว่า
“จากแอฟริกามาไทย แน่นอนว่าแตกต่างกันมากทั้งระยะทางและวัฒนธรรม แต่ความแตกต่างทำให้เกิดความน่าสนใจ มีเสน่ห์ น่าหลงใหล ชวนให้ติดตามเป็นอย่างมาก”
“แอฟริกามีเสน่ห์ และผู้คนในแอฟริกาก็ไม่ธรรมดา มีความมหัศจรรย์ในการหลอมรวมวัฒนธรรมอันหลากหลายอย่างยอดเยี่ยม พ่อเพิ่งมาประจำการที่นี่ได้เพียงครึ่งปี ก็พบว่าคนไทยเป็นคนที่มีจิตใจดีมาก และมีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ซึ่งสั่งสมมาเป็นเวลานานนับปี”
“ความสำคัญคือ การสามารถปรับตัวจากวัฒนธรรมของแอฟริกามาสู่วัฒนธรรมของเอเชีย ที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก วัฒนธรรมวิถีปฏิบัติและหลักการต่างๆ ก็มีความแตกต่างกัน แต่สำหรับในโลกของศิลปะการดนตรีและการเต้นรำทั้งแอฟริกาและไทยยอดเยี่ยมอย่างน่าประทับใจเช่นกัน”
“อย่างที่กล่าวมาแล้ว เอกอัครสมณทูตเป็นตัวแทนของสมเด็จพระสันตะปาปาแห่งกรุงโรมต่อชุมชนคาทอลิกและรัฐบาล ดังนั้น เอกอัครสมณทูตจึงเป็นสะพานเชื่อมระหว่างบาทหลวงในท้องถิ่นกับคาทอลิกท้องถิ่นและพระสันตะปาปา และยังเป็นตัวแทนทางการทูตของสันตะสำนักต่อรัฐบาลท้องถิ่นและหน่วยงานท้องถิ่นด้วย”
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ อาร์ชบิชอป ปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์ ซึ่งมีถิ่นพำนักอยู่ที่กรุงเทพมหานคร เฝ้าฯ ถวายสมณสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครสมณทูตแห่งนครรัฐวาติกันประจำประเทศไทย โดยก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครสมณทูตแห่งนครรัฐวาติกันประจำประเทศไทย อาร์ชบิชอปปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์ เคยดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครสมณทูตแห่งนครรัฐวาติกันประจำสาธารณรัฐแอฟริกาใต้มาก่อน
“ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งในช่วงเวลาสั้นๆ ที่พ่อได้เข้าเฝ้าฯ พระประมุขของประเทศ และได้ถวายสาส์นตราตั้งของเราในพิธีที่สวยงามประทับใจยิ่ง ซึ่งทำให้พ่อหวนรำลึกถึงพิธีการบางอย่างที่เห็นในวาติกัน”
ความแตกต่างระหว่างสันตะสำนัก (Holy See) และวาติกัน (Vatican City)
“สันตะสำนัก (Holy See) คือ อาณาจักรอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นสถาบันฝ่ายปกครองศาสนาในกำกับของมุขนายกแห่งกรุงโรม เป็นตำแหน่งประมุขของศาสนจักรโรมันคาทอลิกทั้งหมดด้วย สันตะสำนักเป็นที่ตั้งของรัฐบาลกลางของศาสนจักรโรมันคาทอลิก”
“ฉะนั้น เมื่อกล่าวถึง ‘สันตะสำนัก’ (Holy See) จึงหมายถึงองค์กรบริหารส่วนกลางของศาสนจักรโรมันคาทอลิกทั้งหมด และเป็นอาณาจักรทางศาสนาที่เป็นที่ยอมรับตามกฎหมายนานาชาติว่าเป็นรัฐอิสระที่มีประมุขเป็นพระสันตะปาปาและสถาปนาความสัมพันธ์ทางทูตกับประเทศอื่นได้”
“ทั้งนี้ สันตะสำนัก (Holy See) ไม่ใช่นครรัฐวาติกัน (Vatican City) ที่ก่อตั้งในปี ค.ศ.1929 สันตะสำนัก (Holy See) ถือว่ามีมาตั้งแต่ศาสนาคริสต์ยุคแรก”
“ส่วนตำแหน่งทูตจะไม่ใช่ตำแหน่งทูตแห่งนครรัฐวาติกัน (Vatican City) แต่จะเป็นทูตแห่งสันตะสำนัก (Holy See) และผู้แทนของพระสันตะปาปาในรัฐหรือประเทศอื่นก็ถือว่าเป็นผู้แทนของสันตะสำนัก (Holy See) มิใช่ผู้แทนของนครรัฐวาติกัน (Vatican City) โดยเรียกว่า เอกอัครสมณทูต”
“นครรัฐวาติกัน (Vatican City) ตั้งอยู่ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี เป็นที่ประทับของพระสันตะปาปา ซึ่งเป็นประมุขสูงสุดแห่งศาสนจักรโรมันคาทอลิก ศูนย์กลางคือมหาวิหารนักบุญเปโตร (St. Peter’s Basilica) ซึ่งออกแบบโดยมีเกลันเจโล (Michelangelo) มีการปกครองเป็นแบบอำนาจเบ็ดเสร็จ อำนาจตกอยู่ที่พระสันตะปาปาเพียงผู้เดียว จะหมดวาระก็ต่อเมื่อสิ้นพระชนม์ พระสันตะปาปาองค์ปัจจุบันคือสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส (Pope Francis) ซึ่งได้รับเลือกเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ.2013”
สรุป นครรัฐวาติกัน(Vatican City) และสันตะสำนัก (Holy See) มักจะใช้สลับกันอย่างผิดๆ ซึ่งทั้งสองมีความแตกต่างกัน วาติกันเป็นนครรัฐ หมายความว่าเป็นหน่วยงานทางภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันและเป็นประเทศที่เล็กที่สุดในโลกเมื่อพิจารณาจากจำนวนประชากรและขนาด โดยมีสมเด็จพระสันตะปาปาเป็นประมุขแห่งรัฐ
อย่างไรก็ตาม สันตะสำนัก (Holy See) ไม่ใช่ภูมิภาคหรือประเทศทางภูมิศาสตร์ แต่เป็นหน่วยงานอธิปไตยและเขตอำนาจศาลของสมเด็จพระสันตะปาปา เป็นองค์กรปกครองกลางของศาสนจักรคาทอลิกทั่วโลก ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในนครรัฐวาติกัน (Vatican City)
ดังนั้น นครัฐวาติกัน (Vatican City) จึงใช้เมื่อกล่าวถึงประเทศหนึ่ง ในขณะที่สันตะสำนัก (Holy See) จะใช้เมื่ออ้างถึงอาณาเขตที่ปกครองโดยบิชอปแห่งกรุงโรม ซึ่งรวมถึงวาติกันและศาสนจักรคาทอลิกทั้งหมด
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสันตะสำนัก (Holy See)
กระทรวงการต่างประเทศบันทึกความสัมพันธ์ไทย-วาติกัน เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1662 เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปา Alexander ที่ 7 จัดส่งคณะมิชชันนารีชุดแรกเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นับเป็นคณะผู้ก่อตั้งคริสต์ศาสนาในไทยเป็นคณะแรก
ต่อมา สมเด็จพระสันตะปาปา Innocent ที่ 11 ได้มีพระราชสาส์นมาถวายพระพรสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ 4 ตุลาคม ค.ศ.1679 ซึ่งทรงมีพระราชสาส์นตอบในปี ค.ศ.1680 แต่เรืออัญเชิญพระราชสาสน์ประสบอุบัติเหตุแตกกลางทะเล สมเด็จพระสันตะปาปา Innocent ที่ 11 จึงได้มีพระราชสาส์นมาอีกเป็นครั้งที่ 2 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1687 ต่อมา ในปี ค.ศ.1688 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงส่งคณะนำโดยเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) เดินทางไปยังกรุงโรม เพื่ออัญเชิญพระราชสาส์นตอบ ไปถวาย ลงวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ.1688 ในปลายศตวรรษที่ 17 เกิดความปั่นป่วนในพระราชอาณาจักรจากการสงครามกับพม่าซึ่งนำไปสู่การเสียกรุงในที่สุด คริสตจักรในกรุงศรีอยุธยาจึงถูกทำลายลง
ในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา ศาสนจักรได้เริ่มฟื้นฟูกลับคืนมาอีกครั้ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชสาส์นติดต่อกับสมเด็จพระสันตะปาปา Pius ที่ 9 ระหว่างปี ค.ศ.1851-1861 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสนครรัฐวาติกัน ในระหว่างเสด็จประพาสยุโรปในปี ค.ศ.1897 และทรงเข้าพบสมเด็จพระสันตะปาปา Leo ที่ 13 นับเป็นการแลกเปลี่ยนการเยือนเป็นครั้งแรกในระดับประมุขของประเทศระหว่างราชอาณาจักรไทย และสันตะสำนัก (Holy See)
ซึ่งต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ เยือนกรุงโรม และทรงเข้าพบสมเด็จพระสันตะปาปา Pius ที่ 11 เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.1934
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จประพาสนครรัฐวาติกันในเดือนตุลาคม ค.ศ.1960 และทรงเข้าพบสมเด็จพระสันตะปาปา John ที่ 23
ราชอาณาจักรไทยและศาสนจักรวาติกันได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 26 เมษายน ค.ศ.1969 ฝ่ายไทยได้มอบให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ดูแลความสัมพันธ์ไทย-วาติกัน สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 ได้ทรงแต่งตั้งคาร์ดินัลชาวไทยคนแรก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1983 คือ คาร์ดินัล มีชัย กิจบุญชู
สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 เสด็จเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรก (State Visit) ระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคม ค.ศ.1984 ในโอกาสเดียวกับที่เสด็จเยือนสาธารณรัฐเกาหลี ปาปัวนิวกินี และหมู่เกาะโซโลมอน
ระหว่างการเยือน สมเด็จพระสันตะปาปาได้เยี่ยมค่ายผู้อพยพที่พนัสนิคม และทรงเรียกร้องวิงวอนให้ประเทศต่างๆ ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อพยพเหล่านั้น อีกทั้ง ยังทรงบริจาคเงินสดช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอินโดจีนเป็นจำนวน 1 ล้านบาทด้วย
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก และพระประมุขแห่งนครรัฐวาติกันเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 20-23 พฤศจิกายน ค.ศ.2019 ตามคำเชิญของรัฐบาลไทยและสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย
ถือเป็นการเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรกในสมณสมัยของพระองค์ และในวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ.2019 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งนครรัฐวาติกันเฝ้าฯ
นับเป็นการเสด็จเยือนประเทศไทยของสมเด็จพระสันตะปาปา ครั้งที่ 2 ต่อจากการเสด็จเยือนของสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 จุดประสงค์ของการมาเยือนคือเพื่อจาริกสันติภาพ และฉลองครบ 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-วาติกัน
ที่สำคัญ ทรงร่วมยินดีในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของในหลวงรัชกาลที่ 10 อีกด้วย
อาร์ชบิชอป ปีเตอร์ ไบรอัน เวลส์ เอกอัครสมณทูตแห่งนครรัฐวาติกันประจําประเทศไทย กล่าวว่า
“จากความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสันตะสำนักนั้น แน่นแฟ้นมากกว่า 360 ปีแล้ว แม้ว่าความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการของเราจะมีอายุเพียง 54 ปีก็ตาม” •
รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน
Chanadda Jinayodhin