ADVERTISEMENT

เก่งกาจการทายโจ๊ก

ประวัติโจ๊กปริศนา

โจ๊กปริศนา มีจุดกำเนิดเกิดขึ้นครั้งแรกที่กรุงเทพมหานครประมาณสมัยรัชกาลที่ ๔ หรือต้นรัชการที่ ๕ในรูปแบบของ โคลงทาย หรือการถามด้วยปริศนาทีขึ้นต้นด้วยคำว่า อะไรเอ่ย.. คล้ายกับการเล่น ผะหมี ของจีนจนกระทั่งมาพัฒนาเป็น ปริศนากวี ที่จังหวัดชลบุรีเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๕๘ แต่ชาวบ้านเรียกกันสั้น ๆ ว่า โจ๊ก

การเล่นทาย โจ๊ก ได้เข้ามาสู่อำเภอพนัสนิคมโดยครูประภัศร์ จันทน์พยอม ด้วยการสนับสนุนของพระเดชพระคุณท่านพระธรรมโกศาจารย์ราชบัณฑิต (ชอบ จันทน์พยอม) อดีตเจ้าคณะจังหวัดชลบุรี เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๖ จนปัจจุบันกลายมาเป็น โจ๊กปริศนาของดีเมืองพนัส ที่นิยมแพรหลายไปทั่วทั้งในพนัสนิคม อำเภอใกล้เคียงและจังหวัดต่าง ๆ เกือบทั่วทุกภาคของประเทศด้วยการรวมกันก่อตั้ง ชมรมโจ๊กพนัสนิคม ขึ้นมาเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๑๕ ตรงกับวันสุนทรภู่บรมครูยอดกวีเอกของโลก ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ คณะกรรมการชมรมโจ๊กฯมีมติให้เปลี่ยนชื่อเป็น ชมรมโจ๊กปริศนาพนัสนิคม โดยมีเจตนารมณ์ ๓ ประการใหญ่ ๆ คือ

  1. อนุรักษ์การละเล่นทายโจ๊กปริศนาไว้มิให้สาบสูญ
  2. พัฒนาปรับปรุงรูปแบบวิธีการเล่นทายโจ๊กปริศนาให้ดีกว่าเดิม
  3. เผยแพร่การละเล่นทายโจ๊กปริศนาให้เป็นที่แพร่หลายในประเทศ.

ก่อนจะมาเป็น โจ๊กปริศนา

การเล่นทายปริศนาเป็นการเล่นเพื่อทดลองภูมิปัญญาซึ่งกันและกัน เป็นการเล่นที่ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน ฝึกให้ผู้เล่นรู้จักใช้ความสังเกต ความคิด และเชาวน์ปัญญาในการแก้ปัญหา การเล่นปริศนาของไทยนั้นได้แก่ ปริศนา อะไรเอ่ย ตัวอย่างเช่น

อะไรเอ่ย ต้นเท่าครกใบปรกดิน……………………………………..คำเฉลยคือ ตะไคร้
อะไรเอ่ย ต้นเท่าแขนใบแล่นเสี้ยว ต้นเท่าขาใบวาเดียว………..คำเฉลยคือ อ้อย / กล้วย
อะไรเอ่ย สูงเทียมฟ้า ต่ำกว่าหญ้านิดเดียว…………………………คำเฉลยคือ ภูเขา
อะไรเอ่ย หีบขาวใส่ผ้าเหลือง คนทั้งเมืองไขไม่ออก…………….คำเฉลยคือ ไข่

การเล่นทายปริศนาเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธมกุฎราชกุมาร เป็นการเล่นทายปริศนาที่เรียกว่า ผะหมี คำว่า ผะหมี เป็นคำภาษาจีน ผะ แปลว่า ตี หมี แปลว่า คำ

อำพราง ผะหมี ก็คือ การแก้ปัญหาหรือการตีคำอำพรางให้แจ้ง การเล่นผะหมีนี้แพร่หลายในหมู่นักปราชญ์ราชบัณฑิตและกวีในประเทศจีน การเล่นชนิดนี้เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า เต็งหมี คำว่า เต็ง แปลว่า สว่าง หรือโคม เต็งหมี ก็หมายถึงแสงสว่างหรือโคมส่องให้เห็นคำที่อำพรางไว้นั่นเอง

ความนิยมในการเล่นผะหมีนั้นมีมากและแพร่หลายไปในจังหวัดต่างๆ เช่น นครสวรรค์ราชบุรี ลพบุรี เชียงใหม่ สมุทรปราการ และจังหวัดทางภาคตะวันออกทั้งหมด โดยเฉพาะที่จังหวัดชลบุรีนิยมเล่นกันมาก แต่ไม่ได้เรียกการเล่นปริศนาชนิดนี้ว่า ผะหมี ชาวชลบุรีจะเรียกกันว่า ปริศนากวี เกิดขึ้นประมาณ พ.ศ. 2458 ต่อมาจึงเรียกว่า โจ๊ก

โจ๊ก เป็นการเล่นทายปริศนาประเภทลายลักษณ์ โดยแต่งคำทายให้เป็นร้อยกรองประเภทต่างๆ คือ โคลง ฉันท์ กาพย์ และกลอน ปริศนาเหล่านี้จะมีคำตอบเป็นชุดเรียกว่า

ธงโจ๊ก แต่โจ๊กอีกประเภทหนึ่งมีลักษณะพิเศษ มักจะวาดเป็นรูปภาพปริศนา อาจมีคำถามสั้นๆ เช่น อะไรเอ่ย ใคร ที่ไหน มักจะเรียกโจ๊กชนิดนี้ว่า โจ๊กภาพ

นายสมดุลย์ ทำเนาว์ สันนิษฐานเพิ่มเติมว่า การเล่นทายโจ๊กปริศนานั้นอยู่ในช่วงเวลาระหว่างรัชกาลที่ 4-6 ซึ่งเป็นช่วงที่ภาษาอังกฤษเข้ามามีบทบาทในภาษาไทยเป็นอย่างมาก ชาวชลบุรีก็อาจจะเป็นพวกหนึ่งที่พยายามนำเอาภาษาอังกฤษมาใช้ทำให้ปริศนาที่เดิมเรียกว่า ผะหมี เปลี่ยนมาเป็น โจ๊ก เพื่อให้โก้ขึ้นกว่าเดิม และเรียกมาจนทุกวันนี้ ดังนั้นคำว่า โจ๊ก ในจังหวัดชลบุรีจึงมีมากถึง 4 ความหมาย คือ

  1. ตลกขบขัน
  2. ข้าวต้มเหลว
  3. บอกอาการเหลวของน้ำ เช่น น้ำเหลวโจ๊ก
  4. ทายโจ๊ก คือ การทายปริศนาคำประพันธ์ที่มีการเล่นกันทั่วจังหวัดชลบุรี

นายประสิทธิ์ ประสิว. ชมรมโจ๊กปริศนาพนัสนิคม เขียนคำจำกัดความหมายของคำว่า โจ๊ก เป็นคำกลอนสุภาพ ดังนี้

โจ๊ก มิใช่หมายถึงซึ่งข้าวต้ม ที่นิยมผสมไก่หมูไข่ขิง
โจ๊ก มิใช่ไพ่โจ๊กโป๊กเกอร์จริง หรือเป็น?โจ๊ก?ตลกยิ่งอิงคะนอง
แต่ โจ๊ก คือปริศนาภาษาศิลป์ กลั่นกรองรินหลั่งหลากจากสมอง
แฝงเงื่อนงำคำทายในร้อยกรอง เป็นการลองปัญญาภาษาไทย

จึงพอสรุปได้ว่า โจ๊ก คือ ปริศนาคำประพันธ์ของไทยที่มีความหมายตามรูปแบบประเพณีการเล่นที่วางไว้ตายตัวตามความนิยมของท้องถิ่นจังหวัดชลบุรี

โจ๊กปริศนาเมืองชล แบ่งออกเป็นประเภท ๆ และแต่ละประเภทนี้ยังแบ่งออกเป็นประเภทย่อย ๆ ลงไปอีกประเภทละหลาย ๆ อย่างก็มี เราจึงเรียก “ประเภท” ว่า ” แบบ” เรียกประเภทย่อย ๆ ว่า “อย่าง” เพื่อให้ผู้เล่นที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และชาวบ้านได้เข้าใจตรงกันอย่างง่่าย ๆ

การแยก “แบบ” ของการทายโจ๊กปริศนาออกเป็นชนิดต่าง ๆ มากกว่า ๑๑ ชนิดของจังหวัดชลบุรีนั้นต้องอาศัย “คำตอบ” หรือ “คำเฉลย” เป็นหลัก เดิมเรียกว่า “ธง” เมื่อผู้เล่นทายผิดแบบ “นายโจ๊ก” จะบอกว่า “ผิดธง” ดังนั้น ผู้ที่จะเขียนโจ๊กปริศนาลงในแผ่นกระดาษออกมาแขวนบนเส้นลวดให้คนเล่นทายกันได้จะต้องมีครามรู้เรื่อง “แบบ” หรือ “ธง” ของโจ๊กปริศนาให้ถ่องแท้เสียก่อน ส่วนคนทายก็มิได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ยิ่งมีความรู้เรื่องเทคนิควิธีการของผู้ตั้งปริศนามากเท่าใดก็ย่อมจะคิดค้นหาคำตอบได้ง่ายมากขึ้นเท่านั้น ต่างกันอยู่แต่เพียงว่า คนสร้างปริศนาจนลอกลงแผ่นกระดาษออกมาติดให้คนทายได้นั้นผิดพลาดไม่ได้ ทั้งภาษาไทยที่นำมาเขียนเป็นคำประพันธ์และสำเนียงของภาษาต่าง ๆ ที่นำมาตั้งเป็นคำตอบเพราะถือว่า “นายโจ๊ก” เป็นผู้ที่มีความรู้ดีกว่าคน “ทายโจ๊ก”

ขอบคุณข้อมูลจาก ชมรมโจ๊กพนัสนิคม