ADVERTISEMENT

ศักดิ์ศรีเมืองสะอาด

รางวัลพระราชทาน เทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืน ปี 2555

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้ดำเนินการศึกษาพัฒนากรอบแนวคิดและเกณฑ์ชี้วัดเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืนสำหรับเทศบาลทุกระดับ โดยน้อมนำกระแสพระราชดำรัสและแนวทาง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

เทศบาลเมืองที่มีค่าดัชนีความน่าอยู่สูงสุด อันดับที่ 1

เทศบาลเมืองพนัสนิคมได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณจากสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI AWARDs) ให้เป็นเทศบาลเมืองที่มีค่าดัชนีความน่าอยู่สูงสุด อันดับที่ 1 ของประเทศ จากศาสตราจารย์นายแพทย์  ประเวศ  วะสี โดยมีดัชนีความน่าอยู่ของเมือง 5  มิติ เป็นตัวชี้วัด ได้แก่ มิติเมืองปลอดภัย มิติเมืองสะอาด มิติเมืองคุณภาพชีวิต มิติเมือง  ธรรมาภิบาล และมิติเมืองวัฒนธรรม

รางวัล 1 ใน 1,000 เมืองระดับโลก รณรงค์พิทักษ์คุณภาพชีวิตและสุขภาพคนเมือง

เทศบาลเมืองพนัสนิคม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ร่วมเป็น 1 ใน 1,000 เมืองระดับโลก รณรงค์พิทักษ์คุณภาพชีวิตและสุขภาพคนเมือง มอบโดยกระทรวงสาธารณสุข และ World Health Organization

aW1hZ2UvMjAxOC0xMi8zMDgxNzNkYTcyYzlmNGI0MDhhMmY0MTY3ZDUwNzgxYi5qcGc-300x200
aW1hZ2UvMjAxOC0xMi84N2QyNDFhZDg3N2E4OTA0ZjA5MTAzYjRmN2VmYWE0NC5qcGc-300x201
14359163_1741880656076165_4061225072055289324_n-300x208
14355178_1741881709409393_5343926135362642358_n-300x209
5e5a8e21acca8f25510b795800da42573c97ffe75a5f54a90ef4f41f5ec7cf08-1
13680708_878477715614043_3359148395919699391_n-768x512
img_6104-300x225
P4030641-300x225
P4030754-300x225

ใครจะเชื่อว่าจากเมืองผ่านทางที่ไม่มีใครแม้แต่จะหยุดรถ หากไม่มีธุระสำคัญ กลายเป็นเมืองต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืนในระดับอาเซียน และติด 1 ใน 1,000 เมืองระดับโลกที่พิทักษ์คุณภาพชีวิตและสุขภาพคนเมือง จากการคัดเลือกขององค์การอนามัยโลก

“เทศบาลเมืองพนัสนิคม” ได้รับการยอมรับว่า เป็นเมืองต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นเมืองน่าอยู่อันดับหนึ่งของประเทศมาอย่างยาวนานถึงสามสิบปี ที่นี่บนฟุตบาทมีทางสำหรับคนตาบอดโดยเฉพาะทุกครัวเรือนมีถังแยกขยะ แทบไม่มีเศษขยะและไม่มีถังขยะให้คนทิ้งเวลาเดินไปตามท้องถนน

ยิ่งกว่านั้นทุกครัวเรือนมีบ่อดักไขมันก่อนน้ำเสียจะถูกส่งไปยังท่อระบายน้ำเสีย และสู่โรงบำบัดน้ำเสียต่อไปฝาท่อระบายน้ำก็ปลอดภัยสำหรับคนสัญจรไปมา นอกจากนี้มีสนามกีฬายังออกแบบให้เป็นลักษณะ universal design อำนวยความสะดวกให้คนพิการและคนสูงวัย มีสวนสาธารณะปลูกต้นไม้ใหญ่กลางเมืองเนื่องจากเป็นเมืองที่ไม่มีขยะ บ่อทิ้งขยะเดิมพื้นที่หลายสิบไร่จึงถูกเปลี่ยนเป็นสวนผักปลอดสารพิษ

สิ่งที่กล่าวมาล้วนเป็นฝีมือของ “นายวิจัย อัมราลิขิต” ในฐานะนายกเทศมนตรี ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ในฐานะอดีตวิศวกรปริญญาโทจากอเมริกา สิ่งแรกที่ “วิจัย” วางแผนและลงมือทำคือจัดการพื้นที่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย จนประสบความสำเร็จได้รับรางวัลชนะเลิศเมืองที่มีความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยจากสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย 3 ปีซ้อน ทุกครั้งที่ได้รับรางวัล เขาจะปลูกฝังความเชื่อมั่นลงไปในจิตใจของชาวบ้าน ด้วยการแห่ถ้วยรอบตลาดกลางเมืองพร้อมกับจัดงานเลี้ยงฉลองสร้างความภูมิใจร่วมกัน

ในด้านการบริหารจัดการ แบ่งทีมงานออกเป็น 3 ระดับ คอยดูแลความสะอาดเรียบร้อยให้กับถนนเส้นหลักทั้ง 3 เส้น ได้แก่ กลุ่มคนงานกวาดถนน, กลุ่มโฟร์แมนคอยขี่จักรยานตรวจสอบ และกลุ่มซุปเปอร์ไวเซอร์ขับมอเตอร์ไซค์ตรวจตราอีกครั้ง

หากย้อนเวลากลับไปในอดีตเมื่อปี พ.ศ. 2530 ปัญหาขยะเป็นเรื่องหนักใจของเมืองพนัสนิคม ในแต่ละวันมีขยะมากถึง 25 ตันหรือ 25,000 กิโลกรัม ทั้งที่มีประชากรเพียงแค่ 1.3 หมื่นคนเขาแก้ปัญหาแบบง่ายๆ แต่ลุ่มลึกด้วยการสั่งปรับขนาดถังขยะจาก 200 ลิตร เป็น 20 ลิตรจำนวน 3 ใบ แบ่งสีตามประเภทของขยะ แจกจ่ายไปตามบ้านเรือน กำหนดเวลาเก็บชัดเจน จนมีผลให้แต่ละบ้านรู้จักคัดแยก หากบ้านใครไม่ยอมแยก รถเก็บขยะจะไม่เก็บขยะบ้านนั้นส่งผลให้ลดปริมาณขยะลงจาก 2.5 หมื่นกิโลกรัม เหลือเพียง 1.5 หมื่นกิโลกรัมในปัจจุบัน โดยตั้งเป้าให้เหลือน้อยกว่า 1 หมื่นกิโลกรัมภายในเวลาอันใกล้

เขาสร้างแรงจูงใจในการคัดแยกขยะ ด้วยการหยิบยื่นโอกาสให้กับผู้ว่างงานในชุมชนโดยให้ซาเล้งฟรี ขับไปรับซื้อขยะรีไซเคิล เช่น กล่องกระดาษ พลาสติกตามบ้านเรือน วิธีนี้ทำให้คนว่างงานลดลงอีกด้วย

ในด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม “นายกฯวิจัย” ติดต่อแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมธนาคาร รวมถึงหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ สามารถสร้างสวนสาธารณะและลานกีฬาขนาดใหญ่ ที่ครบครันไปด้วยสระว่ายน้ำ, สนามเทนนิส, สนามฟุตบอล, สนามเปตอง และสนามบาสเก็ตบอล สร้างหอประชุมที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดชลบุรีได้สำเร็จ

หากใครผ่านไปพนัสนิคมจะเห็นต้นไม้ขนาดใหญ่แต่ละต้นจะมีเลขนัมเบอร์ประจำต้นเหมือนสิงคโปร์ โดยมีกองช่างเป็นผู้ดูแล และยังได้รับงบประมาณอีกราว 20 ล้านบาทจากสหภาพยุโรป มาพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของเทศบาล เพื่อมุ่งหน้าสู่เมืองคาร์บอนต่ำในอนาคต

ในการดูแลเทศบาลเมืองพนัสนิคม แบ่งออกเป็น 12 ชุมชนย่อย กระจายอำนาจให้ดูแลกันเองผ่านคณะกรรมการบริหารชุมชนที่มีทั้งหมด 9 คน คอยดูแลในแต่ละด้าน เช่น การศึกษา, การคลัง, โยธา, สาธารณสุข, สวัสดิการปกครอง และกฎหมายทุกตำแหน่งคัดเลือกโดยประชาชน มีความสอดคล้องและผสานกับเทศบาล มีการประชุมร่วมกันทุก 2 เดือน และอบรมให้ความรู้เรื่อง SWOT Analysis หรือ การวิเคราะห์สภาพขององค์กร ให้รู้จุดแข็ง, จุดอ่อน, โอกาสและอุปสรรคของชุมชน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหา หรือนำเสนอโอกาสในพัฒนาชุมชนได้ดีที่สุด

น่าสนใจตรงมีการแลกเปลี่ยนสื่อสารระหว่างประชาชนและผู้บริหารได้อย่างใกล้ชิด โดยใช้วิธีการสื่อสารผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ที่แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้บริหาร, กลุ่มพนักงานเทศบาล และกลุ่มประชาสัมพันธ์ ที่ประชาชนทุกระดับสามารถเข้าร่วมได้นับเป็นจุดแข็งของพนัสนิคม

ทั้งนี้ ชุมชนย่อยแต่ละแห่งประกอบด้วยประชาชนราว 800 คน มีจุดเด่นแตกต่างกันไปตามความเข้มแข็งและความถนัดของชาวบ้าน เช่น กลุ่มเครื่องจักสาน ที่สร้างสรรค์ผลงานระดับประเทศ กลุ่มพัฒนาสิ่งแวดล้อม ที่นำขยะอินทรีย์จากตลาดมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหลากหลายรูปแบบ สร้างรายได้ให้กับชุมชน เป็นต้น

จึงไม่แปลกใจชื่อเสียงเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อย คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม ของพนัสนิคมจะเป็นที่รู้จักระดับประเทศ ได้รับรางวัลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง มีหลายหน่วยงานมาศึกษาอย่างไม่ขาดสาย

—————————————————————————

ขอบคุณภาพประกอบจาก เว็บไซต์ voicetv.co.th โดย : เสกสรร โรจนเมธากุล, เว็บไซต์สยามรัฐ, esquire.co.th, museumthailand.com, onetonion.com, thaimtb.com, facebook I-Destiny, facebook ที่นี่ชลบุรี