ADVERTISEMENT

พระพนัสคู่บ้าน

คำขวัญประจำเมืองพนัสนิคม

พระพนัสคู่บ้าน จักสานคู่เมือง ลือเลื่องบุญกลางบ้าน ตำนานพระรถเมรี ศักดิ์ศรีเมืองสะอาด เก่งกาจการทายโจ๊ก

  

 

พระพนัสบดี เป็นพระพุทธรูปศิลาเก่าแก่สมัยทวาราวดี มีอายุประมาณ 1,200 – 1,300 ปี แกะสลักจากศิลาเนื้อละเอียดสีดำ เป็นพระพุทธรูปในท่าประทับยืนบนดอกบัวที่วางอยู่บนหลังสัตว์ประหลาดที่สร้างขึ้นจากจินตนาการ เรียกว่า “พนัสบดี” (ผู้เป็นใหญ่ในป่า) แก้มเป็นกระพุ้ง จงอยปากใหญ่งุ้มแข็งแรง คล้ายปากหงส์ ปลายจงอยปากจากบนลงล่าง มีรูทะลุคล้ายกับจะแขวนกระดิ่งได้ มีเขาทั้งคู่บิดเป็นเกลียวงอเข้าหากันคล้ายเขาโคตั้งอยู่เหนือตา โคนเขามีหูสองหูอย่างหูโค มีปีกสองข้างใหญ่สั้นที่กำลังกางออก ขาทั้งสองข้างพับแพนบทรวงอกยกเชิดขึ้นอย่างขาของครุฑที่กำลังเหินลม ด้านหลังองค์พระมีประภามณฑล (ลายเปลวเพลิง) เป็นรูปกลมรีอย่างรูปไข่ รอบๆ ประภามณฑลมีลวดลายงดงามมาก จากพื้นล่างสุดถึงยอดประภามณฑลมีลวดลายงดงามมาก จากพื้นล่างสุดถึงยอด ประภามณฑลสูง 45 เซนติเมตร จากฐานล่างถึงพระบาทสูง 15 เซนติเมตร ส่วนกว้างที่สุดของประภามณฑล 20 เซนติเมตร ส่วนกว้างจากปลายปีกทั้งสองข้าง 24 เซนติเมตร

 

  

 

พระพนัสบดีได้มีการค้นพบเมื่อประมาณปี พ.ศ.2440 โดยผู้พบได้พบขณะพายเรือไปขายของ และปักไม้พายไปถูกองค์พระใต้ผิวน้ำที่ชายฝั่งคลองแบ่ง ตำบลไร่หลักทอง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี และได้เก็บรักษาบูชาไว้ที่บ้านซึ่งอยู่ตรงข้างสถานีตำรวจพนัสนิคมมาจนถึงปัจจุบัน 

พระพนัสบดีองค์จำลอง ได้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2517 จำลองให้ขนาดใหญ่กว่าเดิม 3 เท่า ประดิษฐาน ณ หอพระพนัสบดี ถนนเมืองเก่า ด้านทิศตะวันตกที่ว่าการอำเภอพนัสนิคมตรงข้ามสำนักงานเทศบาลเมือง พนัสนิคม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี 

 

** กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นเป็นโบราณวัตถุ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3684  เมื่อวันที่  8  เดือนมีนาคม พ.ศ.2478 **